วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2559

เลี้ยงลูกยังไง ในยุคดิจิทัล

ปัจจุบันเด็กจำนวนมากมีพฤติกรรมก้าวร้าว ขาดสมาธิในการเรียน ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน และ สมาธิสั้นเทียม เพราะหมกมุ่นกับการใช้เทคโนโลยี เมื่อเร็วๆ นี้จึงมีการเสวนาเรื่อง 'เลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตสมวัยในยุคดิจิทัล'
โดยมี ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ให้ความรู้ว่า การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีมากเกินไป ส่งผลทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้นเทียมได้ โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการคล้ายๆ กับโรคสมาธิสั้น ซึ่งสาเหตุเกิดจากสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดู ของพ่อแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป
"เด็กบางคนหมกมุ่นแต่เกม เวลาไปเรียนก็จะนึกถึงแต่เรื่องเกม จนขาดสมาธิในการเรียน บางคนถึงขั้นเอาแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนไปเล่นใต้โต๊ะเรียน หากพ่อแม่ ผู้ปกครองเข้าใจ และปรับเปลี่ยนการเลี้ยงดู เด็กก็จะมีอาการดีขึ้นโดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา"
คุณหมอณัทธร แนะว่า ควรวางระเบียบวินัย ในการทำกิจวัตรประจำวัน ให้เด็กๆ รู้ว่าเวลาไหน ควรทำอะไร หรือจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน ไม่ให้มีสิ่งเร้าเยอะ เช่น เมื่อกลับถึงบ้านห้ามเปิดโทรทัศน์ทันที เก็บของเล่นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อเด็กๆ จะได้ไม่วอกแวกหรือเล่นของเล่นก่อนทำการบ้าน
"พ่อแม่ ควรฝึกลูกตั้งแต่เล็กๆ เพื่อเขาจะได้เชื่อฟัง แต่สำหรับเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังจนถึงขั้นอาละวาด พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องมีความหนักแน่น ถ้าสิ่งที่ลูกเรียกร้องไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เราต้องปล่อยให้เขาอาละวาดไป พอถึง จุดหนึ่งเขาจะเลิกอาละวาดไปเองเมื่อรู้ว่าวิธีการ ที่ทำไม่ได้ผลในการเรียกร้องความสนใจเหมือนเดิม"
นอกจากนี้ผศ.นพ.ณัทธร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกวันนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยี อย่าง สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ รวมถึงเกม และ สื่อออนไลน์ได้รับการพัฒนาให้น่าดึงดูดใจ และเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากขึ้น ซึ่งพ่อแม่ ผู้ปกครองควรสนใจว่าลูกใช้ประโยชน์หรือเล่นแอพพลิเคชั่นอะไรจากอุปกรณ์เหล่านี้บ้าง และควรมีเทคนิคในการควบคุมดูแลเด็กๆ ในยุคดิจิทัล ดังนี้
1. กำหนดเวลาให้ชัดเจน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรตั้งข้อกำหนดเรื่องเวลาในการใช้สื่อเทคโนโลยีให้กับลูกอย่างชัดเจน เพราะจะทำให้เด็กมีระเบียบวินัยในตนเอง ว่าควรเล่นระยะเวลาเท่าไรจึงจะเหมาะสม เช่น กำหนดให้เล่นได้วันละไม่เกิน 1 ชม. และ วันหยุดอาจเพิ่มเป็น 2 ชม. เป็นต้น
2. สอดส่อง...ดูแล คอยดูว่าสิ่งที่ลูกเล่นอยู่คืออะไร มีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนกับวัยของเขา อย่างเกม ที่มีความรุนแรง เช่น เกมปล้น ยิง หรือฆ่าฟันกัน ก็ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กเท่าไร ฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องคอยชี้แนะให้กับลูก เพราะเด็ก ยังตัดสินใจเองได้ไม่มาก และไม่สามารถแยกแยะได้ว่า อะไรควร...อะไรไม่ควร
3. ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ใช้สื่อเทคโนโลยี เด็กเล็กที่มีอายุไม่ถึง 2 ปี พ่อแม่ ผู้ปกครองไม่ควรให้เขาใช้สื่อเทคโนโลยีเลย เพราะยัง ไม่มีความจำเป็นสำหรับเด็กในวัยนี้ ให้เน้นการมี ปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ และลูกอย่าง การพูดคุยหรือกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการดีกว่า เด็กจะได้มีพัฒนาการด้านการสื่อสาร ระหว่างกัน เมื่อเขาผ่านพ้นวัยนี้ไปจึงค่อย เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสสื่อต่างๆ มากขึ้นตามวัย
4. เล่นได้...แต่ไม่ใช่เจ้าของ พ่อแม่  ผู้ปกครองทั่วไป บางครั้งเมื่อเห็นว่าลูกอยากได้อุปกรณ์เทคโนโลยีก็ซื้อให้ แต่สิ่ง ที่ตามมาคือลูกจะแสดงความเป็นเจ้าของ มักโกรธและแสดงอารมณ์รุนแรงเมื่อพ่อแม่บอกให้หยุดเล่น จนทำให้พ่อแม่ไม่สามารถควบคุมการใช้งานสิ่งเหล่านี้ของลูกได้ ฉะนั้น พ่อแม่ยังต้องคงความเป็นเจ้าของ แต่ให้สิทธิ์ลูกๆ ในการเล่นได้บ้าง เพื่อควบคุมเวลาในการเล่น อุปกรณ์เทคโนโลยีของลูกได้
5. เล่นอย่างสมดุล เด็กสมัยนี้มักจะเล่นแต่แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน หรือเกม จนทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ หรือสังคม และทำให้การเล่นแบบใช้จินตนาการอย่างเด็กรุ่นก่อนๆ ขาดหายไป ส่งผลให้ความคิด สร้างสรรค์ของเด็กลดลง ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรจัดสรรเวลาให้ลูกอย่างสมดุล โดยให้เขา ทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เช่น เล่นกีฬา เต้น ร้องเพลง วาดรูป สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ วิ่งเล่น กับเพื่อนๆ บ้าง
6. เรียกร้องความสนใจจากเด็กติดเกม เวลาที่เด็กใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีแล้วไม่สนใจเมื่อพ่อเม่เรียกหรือพูดคุยด้วย พ่อแม่ควรเดินเข้าไปใกล้ๆ เพื่อให้เขาสบตา หรือถ้ายังไม่สนใจอีกควรเดินไปสะกิดที่ตัวของเด็ก เพื่อให้เขาฟังในสิ่งที่พูด
7. พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดี การที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จะเลี้ยงลูกให้ดีได้ในยุคดิจิทัลนั้น เราควรมีวินัยในตัวเองก่อน หากเราใช้สื่อเทคโนโลยีมากเกินไปกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ลูก อีกทั้งยังส่งผลให้เวลาในการดูแลเอาใจใส่ลูกน้อยลงด้วย"